วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

8 วิธีเลิกนิสัยแย่ๆในการเสพติดสมาร์ทโฟน

       
       ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของเราไปเป็นที่เรียบร้อยต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาลอยๆ เพราะมีงานวิจัยจาก IDC ศึกษาจากกลุ่มคนอายุ 18-44 ปี พบว่ากว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้จะพกโทรศัพท์ติดตัวไว้ตลอดทั้งวัน ว่ากันกว่าวันนึงมี 24 ชั่วโมง คนกลุ่มนี้จะพกโทรศัพท์ติดตัวไว้ถึง 22 ชั่วโมงเลยทีเดียว แล้วคุณเคยสังเกตุตัวเองกันไหมว่าคุณติดโทรศัพท์มากแค่ไหน

       จากการสำรวจในปี 2013 ผู้ที่ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะทำการปลดล็อคหน้าจอถึง 110-150 ครั้งต่อวันกันเลยทีเดียว และจากการศึกษาผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนของ Harvard Business School พบว่า
* 70 เปอร์เซ็นต์จะเช็คสมาร์ทโฟนภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่ตื่นนอน
* 56 เปอร์เซ็นต์จะเช็คสมาร์ทโฟนใน 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
* 48 เปอร์เซ็นต์จะเช็คสมาร์ทโฟนในคืนวันศุกร์-เสาร์และวันหยุดสุดสัปดาห์
* 51 เปอร์เซ็นต์จะเช็คสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องในช่วงลาหยุด
และถึง 44 เปอร์เซ็นของผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนกล่าวว่าหากสมาร์ทโฟนเกิดการสูญหายและไม่ได้คืนภายใน 1 สัปดาห์จะวิตกกังวลอย่างมาก

       และเชื่อหรือไม่ว่าพฤติกรรมบางอย่างของผู้ใช้สมาร์โฟนเป็นการรบกวนผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้เราจะพบนิสัยแย่ๆของผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเกือบทุกที่ที่เราไปและดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการคุยเสียงดังขณะอยู่ในที่สาธารณะ ไม่ปิดเสียงเรียกเข้าขณะอยู่ในสถานที่สำคัญ แม้แต่ในโรงหนังที่มีการรณรงค์ให้ปิดโทรศัพท์มือถือก่อนเข้าชมภาพยนต์ แต่เราก็ยังคงเห็นพฤติกรรมแย่ๆของคนบางคนที่ไม่เคยรักษามารยาทในสังคมเลย

       ในปี 2002 Jacqueline Whitmore ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทตั้งให้เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแห่งมารยาทในการใช้โทรศัพท์ ด้วยความตั้งใจที่จะให้ผู้ใช้มาร์ทโฟนมีความเคารพและตระหนักถึงสภาพแวดล้อมของตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทำลายพฤติกรรมการเสพติดมาร์ทโฟนของคุณและคืนเวลาอันมีค่าของคุณกลับมา ดังนั้นเรามาดู 8 วิธีสร้างมารยาทในการใช้สมาร์ทโฟนกันดีกว่า

1.อยู่กับปัจจุบัน อย่าพยายามทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ในขณะที่คุณอยู่ในที่ประชุมหรือมีการสนทนากับผู้อื่น และในทุกที่ที่คุณคิดว่าคุณมีส่วนร่วมอยู่ด้วยแม้คุณจะเป็นเพียงแค่ผู้ฟังก็ตาม คุณไม่จำเป็นจะต้องคอยเช็คโทรศัพท์มือถือทุกครั้งที่มีคนส่งข้อความ บางครั้งการเปิด airplane mode หรือการปิดโทรศัพท์ไปเลย อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด

2.หามุมส่วนตัว หากคุณต้องการจะคุยโทรศัพท์ในเรื่องส่วนตัวกับใครก็ควรจะหามุมสงบที่เป็นส่วนตัวจะดีกว่า

3.มีสติและใจเย็น หากคุณอยู่ในที่สาธารณะและจำเป็นต้องรับโทรศัพท์หากบทสนทนามีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์ในการพูดคุยคุณควรใช้สติและใจเย็นๆ อย่าแสดงอารมณ์โกรธเพราะมันไม่เป็นผลดีกับตัวคุณเองและอาจเป็นการรบกวนผู้อื่นอีกด้วย

4.เปิดโทรศัพท์เป็นระบบสั่น หรือปิดเสียงไปเลยเมื่อคุณต้องเข้าร่วมการประชุมหรืออยู่ในสถานที่สำคัญต่างๆเช่น วัด โรงเรียน โรงหนัง เพื่อไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น

5.หลีกเลี่ยงการตะโกน ควรใช้โทนเสียงปกติเมื่อคุณคุยโทรศัพท์ ผู้คนมักจะพูดเสียงดังกว่าปกติและมักจะไม่รู้ตัวซะด้วยว่าสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น

6.หลบไปคุยที่อื่น ในขณะที่คุณรับประทานอาหารหรืออยู่ในที่ประชุมและจำเป็นต้องรับโทรศัพท์ควรบอกกล่าวให้คนบนโต๊ะทราบก่อนจะลุกออกไปคุยที่อื่น แต่ทางที่ดีคุณควรให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้าก่อนเป็นอันดับแรก

7.รับผิดชอบต่อการขับขี่รถยนต์ ไม่ควรรับโทรศัพท์หรือส่งข้อความขณะขับรถ ควรใช้แฮนด์ฟรีเสมอคุณจะได้มีสมาธิในการขับขี่เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและผู้อื่นบนท้องถนนด้วย

8.เก็บให้พ้นมือบ้าง เมื่อคุณต้องใช้เวลาอันมีค่ากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงบ้างควรเก็บโทรศัพท์ของคุณไว้ให้ห่างตัวบ้างและพยายามไม่ตรวจเช็คโทรศัพท์เกิน 2-3 ครั้งต่อวัน

      วิธีง่ายๆที่ใครๆก็ทำได้ถ้าคุณเคารพสิทธิของผู้อื่น ช่วยกันเสริมสร้างนิสัยและการอยู่ร่วมกันทางสังคม เชื่อว่าคุณจะได้ประโยชน์กลับคืนมาอีกมากมายเลยทีเดียว และบางทีอาจทำให้นิสัยการติดโทรศัพท์ตลอดเวลาของคุณ ลดน้อยลงไปได้ด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น